24 พฤศจิกายน 2024

chiangraitodaynews

chiangraitodaynews

รมช.ศึกษาแถลงข่าวงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีนักเรียนไทย-ญี่ปุ่น แนะการศึกษาไทยต้องใช้ระบบ S.T.E.A.M. นายกฯเปิด 21 ธ.ค.2565

***เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 17 ธ.ค.2565 ที่ห้องประชุม โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย อ.เมืองเชียงราย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงานแถลงข่าว การจัดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น Thailand – Japan Student ICT Fair 2022 (TJ-SIF 2022) ร่วมด้วยนายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ดร.ภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.ณัฐวุฒิ ยอดสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นายอรรณพ จูจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย ดร.วันสว่าง สิงห์ชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายสมหวัง บุญระยอง
รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย

***ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น Thailand – Japan Student ICT Fair 2022 (TJ-SIF 2022) จะส่งผลให้นักเรียนได้มีการพัฒนาทักษะ ต่อยอดความสามารถเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณภาพ นับเป็นการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยระหว่างครูและนักเรียนที่มีคุณประโยชน์ต่อประเทศไทยและญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมาก ซึ่งในงานนี้ก็ได้รับเกียรติสูงสุดจากท่านนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานในวันที่ 21 ธันวาคม 2565 นี้

***วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนนโยบายทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ขยายโอกาสให้นักเรียนได้เรียนอย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เยาวชนไทยจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเยาวชนจากประเทศญี่ปุ่น นับเป็นประโยชน์อย่างมาก

***ดร.คุณหญิงกัลยากล่าวต่อว่า การนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางด้านไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่นในครั้งนี้ เป็นการสะท้อนถึงคุณภาพการจัดการศึกษาและศักยภาพของครูและนักเรียนทั้งสองประเทศอย่างดียิ่ง ที่สามารถบ่มเพาะนักเรียนให้สามารถพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์คิดค้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความสามารถระดับสูงเยี่ยมในระดับเดียวกันกับนักวิจัยชั้นนำของนานาชาติ ซึ่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางด้านไอซีทีของนักเรียนดังกล่าว ยังเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

***ดร.คุณหญิงกัลยากล่าวอีกว่า เทคนิคของการศึกษาที่จะทำให้คนมีความสมบูรณ์นำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและพัฒนาชีวิตได้อย่างดีที่องค์การศึกษาสากลยอมรับคือ ระบบการศึกษาแบบ S.T.E.M. (สะเต็ม) คือต้องเรียนรู้บูรณาการวิชาการเกี่ยวกับ S = Science =วิทยาศาสตร์, T = Technology = เทคโนโลยี, E = Engineering =วิศวกรรมศาสตร์, M = Mathematics=คณิตศาสตร์ แต่สิ่งที่การศึกษาไทยนำมาเพิ่มเติมคือ A = ART Living = ศิลปะการดำเนินชีวิต คือการเรียนรู้วัฒนธรรมรากเหง้าของตนเอง เรียกรวมทั้งหมดว่า S.T.E.A.M (สะตีม) ซึ่งปัจจุบันชาติตะวันตกก็ยอมรับในขอคิดนี้และนำไปใช้แล้ว

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

***ดร.ภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา กล่าวว่า      งานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น Thailand – Japan Student ICT Fair 2022 (TJ-SIF 2022) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 ธันวาคม 2565 โดยโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์การกีฬา และเทคโนโลยี (MEXT), องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA), สภาหอการค้าญี่ปุ่น (JCC), สถาบัน KOSEN และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

***สำหรับงาน TJ-SIF 2022 นี้นับเป็นเวทีที่ได้เปิดโอกาสให้นักเรียน ได้นำเสนอ แลกเปลี่ยนผลงานวิชาการ และสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมด้าน ICT โดยมีโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย จำนวน 37 โรงเรียน ได้แก่ กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย, กลุ่มโรงเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ, กลุ่มโรงเรียนในโครงการ พสวท. วมว. และสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ Super Science High School จำนวน 17 แห่ง และสถาบัน KOSEN จำนวน 11 แห่ง ร่วมนำเสนอโครงงานสิ่งประดิษฐ์ด้าน ICT จำนวน 124 โครงงาน รวมจำนวนผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 556 คน ดร.ภูริวรรษกล่าวและว่า

***ทั้งนี้ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การนำเสนอโครงงานสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีของนักเรียนไทยและญี่ปุ่น, กิจกรรมบรรยายพิเศษจากจากนักวิทยาศาสตร์ชาวไทยและชาวญี่ปุ่น, กิจกรรม ICT Workshop, การแข่งขัน Game Programming Hackathon และสามารถเยี่ยมชมนิทรรศการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง รวมไปถึงนิทรรศการจากหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ โดยเป็นการจัดงานในรูปแบบ Hybrid ผ่านระบบ Online และ On-site

///ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์

Loading

More Stories