สพม.เชียงราย บันทึกความร่วมมือ ม.เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เน้นการศึกษาตรงสายอาชีพ สะสมหน่วยกิจในระบบคลังหน่วยกิตได้
***เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 30 มีนาคม 2566 ที่ห้องประชุมดอยจอมทอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย รศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ นายอรรณพ จูจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย และนายบุญเทพ พิศวง นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาจังหวัดเชียงราย ร่วมการลงนามความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษากับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย จำนวน 20 โรงเรียน เพื่อพัฒนาการศึกษาร่วมกันระหว่างโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
***1.ร่วมมือจัดการศึกษา ส่งเสริม สนับสนุน จัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นทักษะอาชีพเฉพาะตรงกับหลักสูตรหรือสาขาวิชาต่างๆ ที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัย โดยสามารถสะสมหน่วยกิตในระบบคลังหน่วยกิต เมื่อนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย 2.เพื่อคัดเลือกนักเรียน/นักศึกษาที่เรียนดี มีความสามารถ มีความประพฤติดี เข้าศึกษาต่อ ระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาที่เปิดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย 3.เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ทางด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยกับสถานศึกษา ให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม และเทคโนโลยี
***ในการนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย ได้เชิญผู้อำนวยการสถานศึกษาและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จำนวน 20 โรงเรียน เข้าร่วมการลงนามในการทำข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาในครั้งนี้ ได้แก่ 1.โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม 2.โรงเรียนห้วยสักวิทยาคม 3.โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม 2 4.โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เชียงราย 5.โรงเรียนแม่สรวยวิทยาคม 6.โรงเรียนนครวิทยาคม 7.โรงเรียนแม่อ้อวิทยาคม 8.โรงเรียนแม่จันวิทยาคม 9.โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ 10.โรงเรียนเชียงแสนวิทยาคม 11.โรงเรียนจันจว้าวิทยาคม 12.โรงเรียนบ้านแซววิทยาคม 13.โรงเรียนวัดถ้ำปลาวิทยาคม14.โรงเรียนสันติคีรีวิทยาคม 15.โรงเรียนเทิงวิทยาคม 16.โรงเรียนขุนตาลวิทยาคม 17.โรงเรียนปล้องวิทยาคม 18.โรงเรียนยางฮอมวิทยาคม 19.โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก 20.โรงเรียนไม้ยาวิทยาคม
***รศ.ดร.อุดมวิทย์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือของสพม.เชียงราย และ 20สถานศึกษา กับรมค.รัตนโกสินทร์ ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของเด็กเชียงรายที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาจะได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยมีชื่อระดับประเทศของไทย โดยคาดว่าภายใน 3 ปี เด็กที่ได้รับคัดเลือกก็จะสามารถกลับมาพัฒนาเชียงรายต่อไป
***นายอรรณพ กล่าวว่า หลักสูตรการเรียนของเด็กจะได้รับการสอนให้เกิดความชำนาญและความถนัดในสายอาชีพที่เลือกตามความชอบของตัวเด็กนักเรียนเอง โดยจะมีการคัดเลือกตามทักษะความถนัดหากเป็นสายอาชีพ ซึ่งหลังจากที่เด็กนักเรียนจบในระดับมัธยมตอนปลายแล้ว จะรับการพัฒนาทักษะโดยตรง ซึ่งการลงนามครั้งนี้ถือว่าเป็นการบูรณาการในส่วนของสถานศึกษาให้เกิดความพร้อมและสามารถผลิตนักศึกษาระดับคุณภาพออกสู่สังคมต่อไป
***นายบุญเทพ กล่าวว่า ในส่วนของสถานศึกษาถือว่ามีความพร้อมในการเปิดรับหลักสูตรต่างๆให้เด็กที่ศึกษาในระดับชั้น มัธยมศึกษาที่ 4, 5 และ6 ได้มีการค้นพบความชอบของตนเอง ก่อนที่จะไปประกอบอาชีพของตนเองในอนาคต โดยทางมหาวิทยาลัยจะมีส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชี้แนะแนวทางทั้งตัวเด็กนักเรียนและสถานศึกษาให้เกิดการพัฒนาควบคู่ไปพร้อมกัน
///ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์