แท็กซี่เฮ! ผู้นำเข้ารถไฟฟ้าร่วมสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะ จ่อนำรถไฟฟ้า 100 % ให้บริการเป็นแท็กซี่ในไทย นำร่อง 50,000 คัน มั่นใจลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ผู้โดยสารปลอดภัย ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม
***เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2566 ที่โรงแรมอัศวิน ถ.วิภาวดีรังสิต กทม. ดร.สิชา สิงห์สมบุญ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU)ระหว่างกลุ่มบริษัทผู้นำเข้ารถไฟฟ้า100%ได้แก่ บริษัท West pac trus Bank จำกัด,บริษัท Win God Automobil จำกัด และบริษัทSunlight capital จำกัด และสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ โดยมีคณะกรรมการสมาคมฯและแขกผู้มีเกียรติ ตลอดจนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก
***โอกาสนี้ ดร.สิชา ได้เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ในการเซ็นสัญญา MOU หรือบันทึกข้อตกลงระหว่างบริษัทนักลงทุนต่างประเทศ และสมาคมวิชาชีพผู้ขับแท็กซี่ ว่า เพื่อช่วยพัฒนาประเทศไทยให้ลดก๊าซคาร์บอนลง และยังเพิ่มคาร์บอนเครดิตสามารถที่จะทำรายได้ให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต อีกทั้งการบันทึกข้อตกลงวันนี้เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ สอดรับกับเรามีรัฐบาล และความมั่นคงที่จะให้นักลงทุนชาวต่างประเทศมาลงทุน เราก็จะได้มาช่วยพี่น้องที่มีอาชีพขับรถรับจ้างรถสาธารณะนี้ให้เกิดผลดี ให้เกิดรายได้มีประสิทธิภาพ
***นอกจากนี้ ทางกลุ่มนักลงทุน ยังมุ่งหวังจะช่วยนำความรู้มาพัฒนาทางด้านภาษาอังกฤษและภาษาจีน ซึ่งเราจะต้องผ่านการอบรมกับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งเราจะเป็นผู้กำหนดหลักสูตรให้กับผู้ที่มาเช่ารถเราจะต้องเข้าอบรมหลักสูตรนี้ก่อนเพื่อให้มีความรู้ความสามารถบริการผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ
***ด้านนายลีโอ ลิม(Leo Lim)ตัวแทนบริษัท West pac trus Bank กล่าวเสริมว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยคือในตอนนี้รัฐบาลไทยได้จัดตั้งเรียบร้อย ทำให้เรามีโอกาส และไทยมีความพร้อมอย่างมาก ซึ่งยังมีเป้าหมายจะลงทุนเรื่องเกี่ยวกับพลังสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น Wind Energy และ Solar Cell ที่ประเทศไทยอีกด้วย
***”เราจะทำให้ประเทศไทย กลายเป็น Green City แล้วก็เป็น Green Country ที่จะเป็นตัวอย่าง ของประเทศอื่นต่อไป ซึ่งพลังงานสะอาดนี้ทางบริษัทในเครือ สามารถที่จะนำนักลงทุนมาได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Wind Energy หรือจะเป็น Solar Cell ที่พัฒนาทั้งในบ้าน โรงพยาบาล และสถานที่ราชการต่างๆ เพราะพวกเราจะดำเนินธุรกิจไปในเรื่องของพลังงานสะอาดเป็นหลัก เพราะต่อไปโลกต้องเกี่ยวพันกับเรื่องนี้ ใครที่จะลงทุนอย่างนี้คงจะต้องมีกฎเกี่ยวกับพลังงานสะอาด ซึ่งเราขอเป็นผู้นำในการที่จะนำและบุกเบิกไปในด้านนี้ก่อนใคร”
***อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นเราตั้งใจและตัดสินใจช่วยผู้ขับแท็กซี่ก่อน เพื่อที่จะยกระดับฐานะมาตรฐานคนขับแท็กซี่ในประเทศไทยให้มีมาตรฐานดีขึ้น ไม่ว่าในด้านการสื่อสาร มารยาท ซึ่งประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก ดังนั้นอันนี้เป็นจุดแข็งของเราที่จะต้องอบรมและพัฒนาพี่น้องของเรา ชาวแท็กซี่ทั้งหลายให้ยกระดับได้มาตรฐานดีกว่าต่างประเทศ
***ด้าน นายวรพล แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ กล่าวว่า การทำ MOU ร่วมระหว่างผู้นำเข้ารถไฟฟ้าจีน กับ สมาคมฯครั้งนี้ ถือเป็นการนำร่องการที่จะนำรถไฟฟ้า 100 % หรือเรียกว่า EV 100 % มาให้บริการเป็นแท็กซี่ในประเทศไทย เบื้องต้นเรา ทำ MOU จำนวน 50,000 คัน เราจะนำร่องกลุ่มแท็กซี่เราที่มีสมาชิกเบื้องต้นอยู่ 50,000 คน แต่ก็จะมีขยายให้ครบทุกคนที่ต้องการรถแท็กซี่ไฟฟ้า EV 100 % ซึ่งประโยชน์คือ ทำให้เราประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิง ไม่ต้องไปใช้แก๊ส ไม่ต้องเสียเงินเติมเชื้อเพลิงเยอะ ตรงนี้คือต้นทุนที่เราได้รับ เพราะถ้าเรามีรถแท็กซี่ไฟฟ้า EV 100% เราจะเหลือเงินมากขึ้น รายได้ของเราก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
***ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหา เรื่องการปรับราคาค่าโดยสาร ที่เคยเสนอขอให้กระทรวงคมนาคม หรือให้นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ปรับราคาค่าโดยสารให้เรานั้น ก็กลัวจะไปส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร เพราะฉะนั้นเราจึงหาทางเลือกช่วยประหยัดตัวเราด้วยและช่วยผู้โดยสารประหยัดด้วย นี่คือสิ่งที่เรามองว่า การที่เรามาทำ MOU วันนี้เป็นผลดีต่อประเทศไทยกับคนไทยทั้งประเทศ ผู้ที่ใช้การบริการแท็กซี่ไทยในอนาคตเราก็จะเปลี่ยนจากรถแท็กซี่ที่ใช้น้ำมันใช้แก๊ส เป็นรถแท็กซี่ไฟฟ้า EV 100 % ทั้งหมด เพราะทำให้เราประหยัดต้นทุนในการใช้เที่ยววิ่งในการบริการ และสำหรับผู้โดยสารก็ได้รับความปลอดภัย ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย
***”ปัจจุบันนี้เรายอมรับว่า การใช้รถ NGV หรือ LPG หรือน้ำมัน มีผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม มลภาวะจากน้ำมัน และแก๊ส ก๊าซจะลอยอยู่บนอากาศทำให้เกิดเป็นฝุ่น ค่า PM 2.5 เรามองว่าถ้าอนาคต รัฐบาลสนับสนุนเราให้มีจุดให้บริการที่เราต้องการ จุดจอดสำหรับรถแท็กซี่ไฟฟ้า EV และมีตู้ชาร์จสำหรับรถแท็กซี่ EV เพื่อให้ความพร้อมของรถและผู้โดยสารไปด้วยกันได้ และก็จะลดเรื่องของการปฏิเสธผู้โดยสารได้”
***นายวรพล กล่าวอีกว่า ที่ยังกังวล มี2-3 เรื่องคือ ปัญหาจุดชาร์จเพียงพอหรือไม่ เราจึงมาลงนาม MOU เพื่อให้มีความมั่นใจว่า ตรงนี้เราต้องทำให้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้คือปัญหา แบตเตอรี่ เวลาลุยน้ำ จะอยู่ได้กี่ชั่วโมง และการเซอร์วิสของแบตเตอรี่จะมีปัญหาหรือไม่ นี้คือ3 เรื่องใหญ่ๆ นอกนั้นก็เป็นเรื่องเล็กๆ ส่วนเรื่องค่ามิเตอร์ยังคงเป็นอัตราปกติอยู่แล้ว
***”สมาคมฯมีวัตถุประสงค์เพื่อจะพัฒนาคนขับ พัฒนานวัตกรรม ให้กับผู้โดยสารได้รับความสะดวกและปลอดภัยต่อในการเดินทาง และได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการเรียกใช้บริการ ซึ่งต้องมีแอปพลิเคชัน เราเชื่อว่ารถ 50,000 คัน มีแอปพลิเคชันเป็นของเราเองและยังเป็นแอพของคนไทยเอง ที่สามารถเรียกใช้บริการแท็กซี่ไฟฟ้าไทยและมีความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น ส่วนราคามิเตอร์เราก็ใช้ราคาปกติ อยู่ที่ขนาดของรถ ปัจจุบันนี้ขนาดของรถเรามี 2 ไซส์ ไซส์เล็กถึงกลาง มิเตอร์จะเริ่มต้นอยู่ที่ 35 บาท ส่วนรถไซส์ใหญ่ SUV ก็จะเริ่มต้น 40 บาท และค่าเซอร์วิส ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่เกิน 200 บาท “นายวรพล ย้ำในตอนท้าย
///ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์