21 พฤศจิกายน 2024

chiangraitodaynews

chiangraitodaynews

ศรัทธาเชียงรายร่วมงานแห่สักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา อิ่มบุญกันถ้วนหน้า

***เมื่อวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ณ มกุฏพันธนเจดีย์ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา ประเทศสาธารณรัฐอินเดีย คณะพุทธศาสนิกชนชาวเชียงรายนำโดย คุณพงษ์ฤทธิ์ ศรีสมิท คหบดีจังหวัดเชียงราย พญ.เรณู ศรีสมิท อดีตผอ.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ คุณชวลิต สุธรรมวงศ์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย และคณะสาวงามมิสแกรนด์ไทยแลนด์และมิสแกรนด์เชียงราย ร่วมงานพิธีแห่สักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีพิธีการสมโภชและนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ประจำปี พ.ศ.2567 เป็นปีที่ 15 อย่างยิ่งใหญ่ ด้วยริ้วขบวนของพุทธศาสนิกชนจากในท้องถิ่นและประเทศต่างๆอย่างงดงามกว่า 2,000 คน โดยพระเมตตาในเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ มอบหมายให้พระพรหมเสนาบดี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา รองประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศรูปที่ 1 เป็นประธาน พระวิเทศวชิรญาณ วิ. เจ้าอาวาสวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เป็นประธานจัดงานฝ่ายบรรพชิต นายพงศ์ฤทธิ์ ศรีสมิท ประธานจัดงานฝ่ายคฤหัสถ์ นายทองเปลว ศิริพรพิทักษ์ ประธานอุปถัมภ์การจัดงาน เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วไป ได้มีโอกาสกราบสักการะและรำลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาที่ทรงแสดงไว้จนถึงวันปรินิพพาน

สมเด็จพระมหาธีราจารย์
กรรมการมหาเถรสมาคม
ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ

***โดยมีพิธีกรรมพิธีการดังนี้ 21 ก.พ.2567 เวลา 18:00 น. (เวลาท้องถิ่น) เมืองกุสินาราคุณพงศ์ฤิทธิ์ ศรีสมิท พร้อมคณะจากประเทศไทยทำพิธีเปิดป้ายคลินิกรักษาฟรีและมอบยาฟรีให้ประชาชนในท้องถิ่นเมืองกุสินาราเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 22-24 ก.พ.2567 และไปรับยาได้ถึงวันที่ 29 ก.พ.2567 ณ คลินิคกุสินาราโดยคลีนิคแห่งนี้เริ่มก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ 2543 เพื่อทำการรักษาอาการเจ็บป่วยของประชาชนในท้องถิ่นที่ยากจน (วรรณะจัณฑาล) ด้วยการรักษาครั้งละ 6 รูปี (ประมาณ 18 บาท) มีแพทย์ชาวอินเดียประจำ 1 คน และคณะพยาบาลจากประเทศไทยหมุนเวียนมาทำหน้าที่เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 24 ปี

***22 ก.พ.2567 ถวายข้าวพระพุทธ ณ สถานที่พระพุทธเจ้าปรินิพาน (ปรินิพพานสถูป) เป็นวัดในพระพุทธศาสนาที่ตั้งอยู่ในเมืองกุสินารา เป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานของ พระโคตมพุทธเจ้า ในปัจจุบันได้รับการบูรณะขึ้นโดย รัฐบาลอินเดีย เมื่อพ.ศ. 2499 เป็นส่วนหนึ่งของสถานที่จัดพิธีเฉลิมฉลอง 2500 ปีมหาปรินิพพาน หรือ 25 พุทธศตวรรษ ภายในวัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ปางปรินิพพาน ซึ่งหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ โดยพระพุทธรูปองค์นี้มีความยาวทั้งสิ้น 6.1 เมตร แกะสลักจากหินทั้งก้อน

***23 ก.พ.2567 เวลา 07.30 น. ที่ลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 9 วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ พิธีทักษิณานุประทาน โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์เป็นองค์ประธาน พระวิเทศวชิรญาณ  เจ้าอาวาสวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เป็นประธานจุดเทียนชัยมงคล คุณณรงค์ฤทธิ์ เอี่ยมเจริญยิ่ง ประธานมูลนิธิวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยหน้าพระบรมรูป รัชกาลที่ 9 คุณอารีมา แซ่ตั้ง จุดธูปเทียนเครื่องบวงสรวง ในพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในงานสมโภชและนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ประจำปี 2567 ครบรอบ 30 ปี วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ซึ่งมีคุณอารีมา แซ่ตั้ง ได้อุปถัมภ์การจัดบายศรีมาถวาย และมีคณะนาฏศิลป์จากจังหวัดเชียงรายมาฟ้อนรำถวาย

***24 ก.พ.2567 เป็นวันมาฆบูชา วันสำคัญทางพุทธศาสนา เวลา 07.00 น. พุทธศาสนิกชนผู้แสวงบุญในดินแดนพุทธภูมิ ร่วมกับคณะสงฆ์ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์และจากประเทศไทยโดยการนำของ คุณพงษฤิทธิ์ ศรีสมิต คุณทองเปลว ศรีพรพิทักษ์ ได้ร่วมกับคณะศรัทธาผู้แสวงบุญจากทุกสารทิศทั่วไทยจัดริ้วขบวนราชรถกว่า 50 คัน แห่เดินเท้าจาก สาลวโนทยาน กุสินารา ไปยังที่ปรินิพานสถูป พร้อมด้วยพานพุ่มดอกไม้จากพระบาทสมเด็จพระวัชรเกล้าเจ้าหัว รัชกาลที่ 10 และพระราชวงศ์ทุกพระองค์ พร้อมด้วยธูปเทียนแพเพื่อนำไปถวายเป็นพุทธบูชา ณ มกุฏพันธนเจดีย์ที่ถวายพระเพลิง องค์พระพุทธเจ้า มีระยะทางกว่า 3 กม. โดยมีประชาชน นักเรียน นักศึกษาของเมืองกุสินาราเข้าร่วมขบวนอย่างคับคั่ง ในการนี้เจ้ามัลละกษัตริย์ ผู้ปกครองแคว้นมัลละ ประเทศอินเดีย ได้ทรงเข้าร่วมพิธีสมโภชน์พระบรมสารีริกธาตุเนื่องในสัปดาห์วันมาฆบูชา ที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ด้วย พร้อมกันนี้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้น้อมเกล้าถวายปริญญาดุษฎี บัณทิตแด่พระองค์

***จากตำนานพุทธประวัติระบุว่า พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระศาสดามีขึ้นในวันที่ 8 หลังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานใต้ต้นสาละในราตรี 15 ค่ำ เดือน 6 โดยพวกเจ้ามัลละกษัตริย์จัดบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ และเครื่องดนตรีทุกชนิดที่มีอยู่ในเมืองกุสินาราตลอด 7 วัน แล้วให้เจ้ามัลละระดับหัวหน้า 8 คน สรงเกล้า นุ่งห่มผ้าใหม่ อัญเชิญพระสรีระไปทางทิศตะวันออกของพระนครเพื่อถวายพระเพลิง

***พวกเจ้ามัลละถามถึงวิธีปฏิบัติพระสรีระกับพระอานนท์เถระ แล้วทำตามคำของพระเถระนั้นคือ ห่อพระสรีระด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า 500 คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด จากนั้นอัญเชิญ พวกเจ้ามัลละระดับหัวหน้า 4 คน สระสรงเกล้า และนุ่งห่มผ้าใหม่ พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจให้ไฟติดได้ จึงสอบถามสาเหตุแก่พระอนุรุทธะเถระ แจ้งว่า เพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอพระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ 500 รูป ผู้กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้ เทวดาเหล่านั้นเคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระและพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อน จึงไม่ยินดีที่ไม่เห็นพระมหากัสสปะอยู่ในพิธี และเมื่อภิกษุหมู่ 500 รูปโดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธานเดินทางมาถึงพร้อมกัน ณ ที่ถวายพระเพลิงแล้ว ไฟจึงลุกโชนขึ้นเองโดยไม่ต้องมีใครจุด

คุณพงษ์ฤทธิ์ ศรีสมิท คหบดีจังหวัดเชียงราย
พญ.เรณู ศรีสมิท อดีตผอ.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์

***หลังจากที่พระเพลิงเผาซึ่งเผาไหม้พระพุทธสรีระดับมอดลงแล้ว บรรดากษัตริย์มัลละทั้งหลายจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ใส่ลงในหีบทองแล้วนำไปรักษาไว้ภายในนครกุสินารา ส่วนเครื่องบริขารต่างๆ ของพระพุทธเจ้าได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามที่ต่างๆ อาทิ ผ้าไตรจีวร อัญเชิญไปประดิษฐานที่แคว้นคันธาระ บาตรอัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองปาตลีบุตร เป็นต้น และเมื่อบรรดากษัตริย์จากแคว้นต่างๆ ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานที่นครกุสินารา จึงได้ส่งตัวแทนไปขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำกลับมาสักการะยังแคว้นของตน แต่ก็ถูกกษัตริย์มัลละปฏิเสธ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งและเตรียมทำสงครามกัน แต่ในที่สุดเหตุการณ์ก็มิได้บานปลาย เนื่องจากโทณพราหมณ์ได้เข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อยุติความขัดแย้งโดยเสนอให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่าๆ กัน ซึ่งกษัตริย์แต่ละเมืองทรงสร้างเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตามเมืองต่างๆ ดังนี้

***กษัตริย์ลิจฉวี ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองเวสาลี กษัตริย์ศากยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองกบิลพัสดุ์ กษัตริย์ถูลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองอัลลกัปปะ กษัตริย์โกลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองรามคาม มหาพราหมณ์ สร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองเวฏฐทีปกะ กษัตริย์มัลละแห่งเมืองปาวา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองปาวา พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองราชคฤห์ มัลละกษัตริย์แห่งกุสินารา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองกุสินารา กษัตริย์เมืองโมริยะ ทรงสร้างสถูปบรรจุพระอังคาร (อังคารสถูป) ที่เมืองปิปผลิวัน โทณพราหมณ์ สร้างสถูปบรรจุทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุ ที่เมืองกุสินารา (ทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุแจก, คำว่า ตุมพะ แปลว่า ทะนาน, บางทีเรียกสถูปนี้ว่า ตุมพสถูป)

***สำหรับกรณีของกษัตริย์เมืองโมริยะนั้น ได้ส่งผู้แทนมาหลังจากที่โทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทั้ง 8 เมืองไปแล้วจึงได้อัญเชิญพระอังคารไปแทน ส่วนโทณพราหมณ์ ก็ได้สร้างสถูปบรรจุทะนานที่ใช้สำหรับตวงพระบรมสารีริกธาตุสำหรับตนเอง และผู้คนได้สักการะ

ขอบคุณ ข้อมูลข่าว/ภาพจาก คุณสมพล สวางพรหม ผู้สื่อข่าว/ช่างภาพ นสพ.เชียงรายนิวส์ และร้านเชียงรายโปรเฟสชั่นแนล ข้อมูลรายละเอียดข่าวและข้อมูลวิชาการจาก Facebook คุณพงษ์ฤทธิ์ ศรีสมิท

///ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์

Loading