มฟล.เปิดศูนย์ฝึกอบรมกำลังคนด้านโลจิสติกส์อัจฉริยะ ใช้ Hololensระบบเสมือนจริง Mixed Reality Simulation
***เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 20 พ.ค.2567 ที่ห้องระชุมประดู่แดง 1 อาคารพลเอกสำเภา ชูศรี (E4) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) อ.เมืองเชียงราย สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มฟล. ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก SCG JWD Academy ร่วมแถลงข่าวโครงการศูนย์ฝึกอบรมกำลังคนด้านโลจิสติกส์อัจฉริยะโดยใช้ Mixed Reality Simulation เพื่อรองรับศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ เพื่อเชื่อมโยง GMS เนื่องจากในปัจจุบันศูนย์เปลี่ยนถ่ายฯ ตั้งอยู่บริเวณด่านพรมแดนไทย-สปป.ลาว อ.เชียงของ จ.เชียงราย เนื้อที่ 335 ไร่ โดยดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานระยะที่ 1 แล้วเสร็จแล้วด้วยวงเงิน 1,300 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการระยะที่ 2 วงเงิน 660 ล้านบาท โดยอยู่ในกระบวนการคัดเลือกเอกชน (PPP) เข้าบริหารงาน โดยมีรศ.ดร.ดรุณี วัฒนศิริเวช รองอธิการบดี มฟล.ผศ.ดร.ธีรวิศิฎฐ์ เลาหะเพ็ญแสง คณบดีสำนักวิทยาเทคโนโลยีสารสนเทศ ผศ.ดร.สันติชัย วิชา หัวหน้าโครงการฯ นายณัฐกฤต แก้วประทุม นักวิชาการขนส่งชํานาญการ คุณสรนพ บ้านใหญ่ SCGJWD Academy ร่วมสรุปผลการดำเนินการโครงการซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจำนวน 9,700,800 บาท เพื่อพัฒนากำลังคนที่จะสามารถทำงานรองรับกับศูนย์เปลี่ยนถ่ายฯ ได้ในอนาคต อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก โรงเรียนทักษะพิพัฒน์หรือ SCGJWD Academy บริษัท แอดวานซ์ อิน โฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยพะเยา
***ผศ.ดร.สันติชัย วิชา หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า อ.เชียงของเป็นเมืองหน้าด่านที่สามารถเชื่อมประเทศไทยไปสู่นานาชาติโดยเฉพาะในด้านการขนส่งสินค้า จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาคนเพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบดิจิตอล ดังนั้นทางโครงการจึงได้ให้ความสำคัญตลอดระยะเวลา 12 เดือนของโครงการ และได้ขอระยะเวลาต่อเพิ่มเติมอีก 180 วัน โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค.2567 นี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีผู้เข้ารับการอบรม 520 คน มากจากผู้สนใจทั่วไป ตัวแทนจากผู้ประกอบการ เช่น นิ่มซีเส็ง ซีพีออลล์ ฯลฯ มีการเดินทางไปยัง จ.เชียงใหม่ จ.พะเยา และ อ.เชียงของ ภายใต้ 5 หลักสูตรคือ หลักสูตรสำหรับเจ้าของธุรกิจนำเข้าและส่งออก หลักสูตรสำหรับหัวหน้างานคลังสินค้า หลักสูตรสำหรับคนขับรถบรรทุก หลักสูตรสำหรับพนักงานขับรถยก และหลักสูตรสำหรับเจ้าหน้าที่ดูแลคลังสินค้า มีการใช้ Simulator ในการควบคุมการปฏิบัติการ และใช้ Hololens เพื่อความปลอดภัยในการทำงานต่างๆ เป็นต้น
***ด้านนายณัฐกฤต แก้วประทุม นักวิชาการขนส่งชำนาญการ กล่าวว่าศูนย์เปลี่ยนถ่ายฯ เชียงของถือเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายฯ ชายแดนแห่งแรกของประเทศไทย เพราะที่ผ่านมามีเพียงที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งคาดว่าโครงการระยะที่ 2 จะแล้วเสร็จราวปลายปี 2568 โดยอยู่ระหว่างหาเอกชนเข้าไปดำเนินการอยู่ ภายในมีอยู่ 2 ส่วนคือ การรองรับสินค้าและการขนส่งสินค้ากระจายผ่านถนน R3A ไทย-สปป.ลาว-จีน ทั้งนี้ในอนาคตจะผลักดันให้พิธีนำเข้าและส่งออกสินค้ามุ่งตรงเข้าไปศูนย์เปลี่ยนถ่ายฯ ส่วนการเดินทางเข้าออกของคนจะแยกให้ไปอยู่ที่ด่านพรมแดนเช่นเดิมเพื่อลดความแออัด ดังนั้นการจัดอบรมตามโครงการจึงเป็นเรื่องที่ดีอย่างมากเพราะสามารถสร้างบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะจะมีระบบร่างเชื่อมจากเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งจะมีการปรับปรุงรองรับตู้คอนเทนเนอร์ด้วย
///ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์