20 กันยายน 2024

chiangraitodaynews

chiangraitodaynews

ผู้ตรวจการแผ่นดินติดตามคืบหน้าลดความพิการแต่กำเนิด หนุนเชียงรายจังหวัดนำร่องสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่วัยเจริญพันธ์

***เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 28 พ.ค.2567 ที่ห้องประชุมจอมกิตติ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมนายชวลิต ธูปตาก้อง ที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และพ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินงานโครงการศึกษาการดำเนินงานจังหวัดนำร่องป้องกันและลดอัตราความพิการแต่กำเนิด (Birth Defects Sandbox) จังหวัดเชียงราย โดยมีนางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผวจ.เชียงราย ให้การต้อนรับ นายณรงค์ ลือชา รองสสจ.เชียงราย กล่าวรายงาน และหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ภายหลังการประชุมได้ตั้งคณะทำงานประชาสัมพันธ์ 3 ด้าน เร่งปฏิบัติการทำประชาสัมพันธ์ และรณรงค์ปลุกกระแสความตระหนักรู้สู่สถานศึกษา สถานประกอบการ และชุมชน พร้อมเน้นกลไกระดับอำเภอเข้าร่วมขับเคลื่อนทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึง อสม.ในพื้นที่ หวังผลสัมฤทธิ์โดยเฉพาะหญิงวัยเจริญพันธ์ในวัยเรียนและในสถานประกอบการ หลังจากนั้นคณะผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงพื้นที่โรงเรียนเวียงป่าเป้าวิทยาคม อ.เวียงป่าเป้า เพื่อติดตามผลความคืบหน้าการกระชาสัมพันธ์โครงการฯในพื้นที่ใน 3 ภาคส่วนได้แก่ โรงเรียน สถานประกอบการ และชุมชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและตระหนักต่อการเตรียมความพร้อมด้านการใช้ยาโฟลิคแอซิคเพื่อป้องกันการพิการโดยกำเนิด

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต
ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน

***นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า โครงการศึกษาการดำเนินงานจังหวัดนำร่องป้องกันและลดอัตราความพิการแต่กำเนิด (Birth Defects Sandbox) จังหวัดเชียงราย เป็นการดำเนินงานที่สืบเนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินได้แก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับหญิงตั้งครรภ์จะต้องรับประทานวิตามินโฟลิก เอซิด(วิตามิน B9) ขนาด 400 มิลลิกรัม ทุกวันก่อนการตั้งครรภ์ เน้นช่วงสามเดือนแรกก่อนตั้งครรภ์และต่อเนื่องอีกสามเดือนแรกที่ตั้งครรภ์เพื่อป้องกันปัญหาความพิการในเด็กทารกแรกเกิด โดยได้เสนอแนะให้องค์การเภสัชกรรมดำเนินการผลิตโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) ขนาด 400 ไมโครกรัม และจัดเข้าหมวดยาแทนหมวดอาหารเสริม เพื่อให้สามารถแจกจ่ายให้ประชาชนรับประทานได้ตั้งแต่ปี 2563 และเพื่อให้ความรู้นี้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกระดับทั้งกลุ่มเยาวชน และกลุ่มผู้ที่ทำงาน โดยเฉพาะสตรีในวัยเจริญพันธ์  ได้เสนอแนะให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญและทำการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง  ซึ่งโอกาสนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินเล็งเห็นความสำคัญจึงบูรณาการกับหน่วยงานสร้างความรู้เรื่องประโยชน์การบริโภคโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) รวมถึงวิตามินเฟอร์โรโฟลิกก่อนการตั้งครรภ์ 3 เดือน และวิตามินไตรเฟอร์ดีนขณะตั้งครรภ์ โดยได้เลือกจังหวัดเชียงรายเป็นนำร่องจัดโครงการศึกษาการดำเนินงานป้องกันและลดอัตราความพิการแต่กำเนิด (Birth Defects Sandbox) มีคณะทำงานดำเนินการขับเคลื่อนและประชาสัมพันธ์ตาม 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) คณะทำงานดำเนินการขับเคลื่อนและประชาสัมพันธ์ด้านสถานศึกษา 2) คณะทำงานดำเนินการขับเคลื่อนและประชาสัมพันธ์ด้านสถานประกอบการ 3) คณะทำงานดำเนินการขับเคลื่อนและประชาสัมพันธ์ด้านประชาชนในชุมชน

***นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อรับทราบความคืบหน้าดังกล่าวตามแผนการดำเนินงานของจังหวัดเชียงรายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และแผนการขับเคลื่อนโครงการฯในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ยังรวมถึงการรับทราบปัญหาอุปสรรคของคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ และคณะทำงานดำเนินการขับเคลื่อนและประชาสัมพันธ์ตามกลุ่มเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่มด้วย  เพื่อให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะได้ช่วยเป็นผู้ประสานการดำเนินโครงการจังหวัดนำร่องให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นข้อมูลแนวทางประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐต่อไป ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีมติให้จังหวัดเชียงรายดำเนินการต่อเนื่องดังต่อนี้

 ***1. จัดประชุมชี้แจงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโฟลิก เอซิด และผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้แทนหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการรณรงค์ในแต่ละกลุ่ม เช่น บุคลากรครูในสถานศึกษา ฝ่ายฝึกอบรมของทุกสถานประกอบการ/โรงงาน รวมทั้งฝ่ายปกครอง เช่น ปลัดอำเภอที่รับผิดชอบงานชุมชน เพื่อจะได้มีความรู้ ความเข้าใจและมีความมั่นใจที่จะพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายอย่างถูกต้อง 2. ให้มีการตรวจติดตามสาเหตุของความพิการของทารกแรกเกิดของจังหวัดเชียงราย เพื่อจะได้ทราบว่ามีสาเหตุมาจากการขาดการบริโภคโฟลิก เอซิด หรือปัจจัยอื่น เพื่อสามารถจำแนกสาเหตุความพิการและเป็นข้อมูลสนับสนุนให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

***3. ให้กระจายเม็ดยาโฟลิก เอซิดให้ครอบคลุมแก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ในทุกกลุ่ม รวมถึงแรงงานต่างด้าวนอกระบบและกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงเพื่อบริโภค โดยประสานขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมถึงมูลนิธิองค์กรเอกชนต่าง ๆ ในพื้นที่ด้วย 4. ให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทำความตกลงร่วมกับสถานประกอบการเพื่อกำหนดให้อัตราความพิการของทารกแรกเกิดของหญิงวัยเจริญพันธ์ตามกลุ่มเป้าหมาย ให้มีอัตราเป็นศูนย์ โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดของสถานประกอบการแต่ละแห่งด้วย

***ทั้งนี้ให้สาธารณสุขจังหวัดเชียงรายต้องรายงานความก้าวหน้าผลการขับเคลื่อนโครงการจังหวัดนำร่อง และบรรจุเป็นวาระการประชุมประจำเดือนของจังหวัดและกำหนดให้มีการแต่งตั้งผู้ประสานงานหลักในคณะทำงานแต่ละด้าน เพื่อแก้ไขปัญหาการโยกย้ายและสับเปลี่ยนผู้เข้าประชุมให้เกิดความต่อเนื่องในการประสานงาน

***นอกจากนี้เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานลงถึงระดับอำเภอและชุมชน ยังกำหนดให้สสจ.เชียงรายประสานการใช้งบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ และเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์โครงการผ่านหอกระจ่ายข่าวประจำหมู่บ้านและชุมชนด้วย และที่สำคัญเนื่องจากขณะนี้มีการถ่ายโอนภารกิจของรพ.สต.ไปให้อบจ.เชียงรายภายในเดือนตุลาคม 2567 นี้ จึงกำหนดให้สาธารณสุขจังหวัดเชียงรายเร่งทำความเข้าใจกับผู้บริหารของอบจ.เชียงรายในฐานะหน่วยงานหลักที่ต้องรับผิดชอบต่อไป

///ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์

Loading