28 กันยายน 2024

chiangraitodaynews

chiangraitodaynews

“นายกอุ๋งอิ๋ง” ตรวจเยี่ยมเชียงรายเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม ภาคเอกชนร่วมประชาสังคมยื่นข้อเสนอแก้ไขเยียวยาให้นายก ออกมาตรการพยุงผู้ประกอบการ ลดภาษี+ซอฟโลน ฟื้นเศรษฐกิจ

***เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 27 ก.ย.2567 ที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยนายภูมิธรรม เวชชยไชย รอวนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีระกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่เชียงรายตรวจเยี่ยมเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและภาคเหนือ โดยได้มีการประชุมในระบบคอนเฟอเรนซ์กับผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้และจังหวัดที่คาดว่าอาจเกิดภาวะน้ำท่วมในอนาคต โดยมีนายพุฒิพงษ์ ศิริมาตย์ ผวจ.เชียงรายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

***น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลได้มาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และส่งกําลังใจในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย รวมทั้งจังหวัดที่ประสบภัยในขณะนี้ ซึ่งได้รับรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า มีบางส่วนที่ได้รับค่าเยียวยาถึงมือพี่น้องประชาชนชาวเชียงรายไปแล้วเกือบ 3,000 ครอบครัว และมีอีกหลายครอบครัวที่ได้รับผลกระทบซึ่งตอนนี้ก็กําลังรอการตรวจสอบตามกระบวนการให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว โดยได้มีการระดมสรรพกําลังทุกภาคส่วน แบ่งโซนความรับผิดชอบ หารือถึงความชัดเจนว่าพื้นที่ไหนได้รับการดูแลไปแล้วบ้าง และได้มอบหมายให้กับกระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้ขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาให้แล้วเสร็จ

***ทั้งนี้ ขอให้ส่วนราชการอื่นๆ สนับสนุนทั้งเครื่องมือ สรรพกำลัง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ต้องขอขอบคุณทาง กรุงเทพมหานคร ที่ส่งเครื่องจักรมา 2 เครื่องใหญ่ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้เตรียมดำเนินการในเรื่องของSoft loan สำหรับการฟื้นฟูกิจการ ซ่อมแซมที่พักอาศัยหลังน้ำลด รวมวงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายสำหรับกลุ่ม Micro SMEs ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมทำอุปกรณ์ทำความสะอาดและซ่อมแซมให้กับผู้ประสบภัย และสินค้าธงฟ้าราคาประหยัดเพื่อให้ประชาชนซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นได้ในราคาถูก

***ต่อมาในเวลา 16.30 น. วันเดียวกัน ที่หอประชุมโรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อมอบเงินเยียวยาและสิ่งของจำเป็นใช้ในชีวิตประจำวันให้ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยมีนายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย ให้การต้อนรับและกล่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในเขตเทศบาลนครเชียงราย อ.เมืองเชียงราย ที่ผ่านมา พร้อมทั้งการเยียวยาสเบื้องต้นจากเทศบาลนครเชียงราย

***นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงราย เกิดน้ำท่วมจากแม่น้ำกกไหลล้นตลิ่ง ตั้งแต่วันที่ 10-13 กันยายน 2567 และขยายวงกว้างท่วมในพื้นที่ 52 ชุมชน ประชากรได้รับความเดือดร้อน จากน้ำท่วม 12,000 หลังคาเรือน ซึ่งทางเทศบาลนครเชียงรายได้มีการช่วยเหลือในเบื้องต้น และปัญหาที่พบ ในช่วงของการฟื้นฟู  ในขณะนี้คือปัญหาดินโคลนซึ่งมีสะสมในพื้นที่จำนวน จึงขอรับการสนับสนุนจากหลายพื้นที่เข้ามาช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน  ขณะที่การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบราชการและช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนทุกพื้นที่

***จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้มอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอำเภอเมืองเชียงราย จำนวน 30 ครอบครัว เป็นเงิน 1,485,000 บาท  อำเภอเทิง จำนวน 6 ครอบครัว เป็นเงิน 297,000 บาท อำเภอเวียงแก่น จำนวน 18 ครอบครัว เป็นเงิน 891,000  บาท  และมอบเงินช่วยเหลือฯ ตาม มติ ครม. เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567  ให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมมอบชุดอุปกรณ์ทำความสะอาดบ้านเรือนให้กับผู้ประสบภัย

***ขณะที่ นายกฯ ได้กล่าวทักทายประชาชนเป็นภาษาเหนือว่า “สวัสดีเจ้า” พร้อมกล่าวว่า วันนี้มาในนามของตัวแทนรัฐบาล นำคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ให้กำลังใจพี่น้องชาวเชียงราย ซึ่งทราบว่าชาวเชียงรายเจอปัญหาน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบหลายปี และปัญหาดินโคลนถล่มสถานการณ์หนักจริงๆ ซึ่งหากแห้งแล้วจะทำความสะอาดยาก วันนี้ได้นำสิ่งของมามอบให้ประชาชนใช้ในการทำความสะอาด พร้อมนำเครื่องมือจากกรุงเทพและจังหวัดอื่นๆ มาช่วยเหลือพี่น้องอย่างเต็มกำลัง โดยทุกภาคส่วนมาช่วยเหลือเพื่อแสดงให้รู้ว่ารัฐบาลเต็มที่ในการช่วยเหลือและเยียวยาฟื้นฟู

***นายกรัฐมนตรีกล่าวให้กำลังใจชาวเชียงรายว่า ขอให้รู้ว่ารัฐบาลเป็นกำลังใจให้ วันนี้เงินช่วยเหลือมาถึงพี่น้องประชาชนแล้ว และในวันอังคารจะมีการนำเสนอเรื่องในการประชุม ครม. เพื่อขยายความช่วยเหลือ ยืนยันจะมีการช่วยเหลืออย่างแน่นอน ทั้งนี้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือเยียวยาเพื่อให้ประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ  เข้าใจว่า หลายๆ บ้านประสบปัญหาอย่างหนัก โดยเฉพาะในอำเภอแม่สาย บางคนเดือดร้อนถึงขั้นร้องไห้ ยืนยันรัฐบาลไม่ทิ้งประชาชนอย่างแน่นอน พร้อมช่วยอย่างเต็มที่ขอให้ประชาชนมั่นใจ รัฐบาลขอเป็นกำลังใจและจะช่วยเหลือทุกอย่างพร้อมจะระดมกำลังคนมาช่วยทำความสะอาดคืนพื้นที่ให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด ขออย่าพึ่งท้อสู้กันต่อไป ทนอีกนิดนึง ขอให้มีกำลังใจ  ขอส่งความรักให้พี่น้องประชาชนชาวเชียงรายทุกคน นายกรัฐมนตรี ย้ำ ก่อนเดินทางกลับ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี

***ก่อนการพบปะประชาชนผู้ประสบภัยมอบเงินเยียวยาและสิ่งของ นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเชียงราย พร้อมภาคเอกชนจังหวัดเชียงราย ได้แก่ หอการค้าจังหวัดเชียงราย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเชียงราย ได้มอบหนังสือสรุปข้อเสนอแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำหลากเมืองเชียงรายแก่นายกรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับที่จะไปพิจารณาดำเนินการแก้ไขต่อไป

***ข้อสรุปและข้อเสนอในเบื้องต้นต่อรัฐบาลของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมจังหวัดเชียงรายในการแก้ปัญหา ฟื้นฟู และเยี่ยวสถานการณ์หลังน้ำท่วมมีดังนี้ 1.ภาคเอกชนเสนอให้ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นวันเปิดเมืองเชียงราย โดยกว่า 1 เดือนที่เหลือให้ใช้เร่งเก็บขยะ-โคลน และเศษซากความเสียหายต่างๆออกให้แล้วเสร็จ และเริ่มต้นฟื้นฟูการท่องเที่ยวและภาคเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย 2.ออกมาตรการในการฟื้นฟูภาคธุรกิจและเอกชน ทั้งรายใหญ่และรายย่อย เช่น ด้านภาษี สินเชื่อ การยกเว้นจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง นอกจากนี้ควรมีมาตรการการดูแลลูกจ้างทั้งแรงงานชาวไทยและแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูและพลิกฟื้นเศรษฐกิจของเมืองเชียงราย

***3.จัดตั้งศูนย์บัญชาการการฟื้นฟูในพื้นที่อย่างเร่งด่วน จัดการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและชาวเชียงรายทุกภาคส่วน  ทั้งนักวิชาการ ภาคเอกชน ประชาสังคม สร้างการสื่อสารระหว่างศูนย์แห่งนี้และชาวเชียงราย โดยมีการรายงานความคืบหน้าการฟื้นฟู เยียวยาทั้งภาพรวมของการปฏิบัติการ และรายพื้นที่ มีระบบ Data Center- One Chiang Rai  4.กำหนดให้เชียงรายเป็นจังหวัดต้นแบบของการรับมือภัยพิบัติ ที่จะมีการติดตามการเกิดภัยตลอดทั้งปี โดยเป็นศูนย์เรียนรู้ทั้งภายในประเทศ และ ภัยพิบัติข้ามพรมแดน จังหวัดต้องทำแผนที่เสี่ยงภัยทุกชนิดในพื้นที่ ทั้งน้ำหลาก ดินถล่ม ฯลฯ และมีการวางแผนตลอดทั้งปี มีศูนย์เตือนภัยระดับ ชุมชน (Buttom Up) และมีการเตรียมความพร้อมของชุมชน  5.รัฐต้องประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการร่วมแก้ปัญหาภัยข้ามพรมแดน 6.จัดทำระบบเตือนภัยล่วงหน้า realtime แจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือและช่องทางอื่น ใช้ภาษาและรูปแบบที่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเข้าใจได้ง่าย

***7.มีมาตรการฟื้นฟูผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูอาชีพ มีข้อมูลการให้ความช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ซ้ำซ้อน 8.จัดทำแผนจัดการเมืองเชียงรายในระยะกลาง ผังเมืองการใช้พื้นที่ zoning พื้นที่รับน้ำ พื้นที่เสี่ยงภัย และกำหนดแบบแปลนสิ่งก่อสร้างที่เหมาะสมสอดคล้องกับอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นได้อีก

***นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแผนฟื้นฟูเมืองเชียงรายในระยะเร่งด่วน ได้แก่ จัดจ้างรถตักและจัดการตักและขนขยะน้ำท่วม โคลนออกจากถนนและซอยในชุมชนออกให้เร็วที่สุด ซึ่งการจัดการขยะในครั้งนี้เกินกำลังองค์กรท้องถิ่นที่จะรับมือได้ ให้มีการจัดการขยะหลังน้ำท่วมในรูปแบบการบูรณาการเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การคัดแยกขยะ การเก็บขน การนำไปกำจัดให้ถูกต้อง จัดส่งรถน้ำล้างถนน ซอย และบ้านเรือนประชาชนเพื่อให้ถนนปลอดโคลน ฝุ่น และทำให้ประชาชนมีบ้านและที่พักอาศัยสะอาด ปลอดภัยต่อสุขภาพ พิจารณามาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมดินโคลนถล่มเป็นกรณีพิเศษต่างจากอุทกภัยทั่วไป (การชดเชยความเสียหายของทรัพย์สิน, และการสูญเสียรายได้)

***จัดตั้งศูนย์บัญชาการการฟื้นฟูในพื้นที่ (มีแถลงการณ์ภายในจังหวัด ถึงความคืบหน้าการฟื้นฟู// สร้างระบบการสื่อสาร ทั้งภาพรวมของการปฏิบัติการ และ รายพื้นที่ ) สำรวจผู้ได้รับผลกระทบและชดเชยเยียวยาให้ทั่วถึง (พิจารณากลุ่มผู้ตกหล่นที่ได้รับความเสียหายแต่ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการชดเชย เช่น ผู้เช่าที่อยู่อาศัย หอพัก เป็นต้น) จัดการโคลนเพื่อให้ประชาชนกลับคืนสู่ที่พักอาศัย และระบบบำบัดน้ำเสีย

***จัดทำ zoning พื้นที่ในการจัดการ อาทิ สีแดงพื้นที่วิกฤติ เช่น กลุ่มตลิ่งทรุด ตัวอาคารได้รับความเสียหายร้ายแรง, สีส้มพื้นที่ต้องใช้เครื่องจักรเข้าไปดำเนินการ เช่น กำจัดโคลนและขยะ, สีเหลืองกลุ่มผู้ต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษในการฟื้นฟูบ้าน เช่น บ้านที่มีผู้สูงอายุ เร่งฟื้นฟูสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ระบบประปา, คุณภาพน้ำ,ไฟฟ้า, ถนน, สะพาน ฯลฯ) ตรวจสอบโครงสร้างความแข็งแรงของอาคาร รวมถึงระบบไฟฟ้าในชุมชนผู้ประสบภัยพิบัติ วางแผนการจัดการลุ่มน้ำภายในประเทศในพื้นที่อื่นที่ข้ามเขตการปกครองระดับจังหวัดร่วมกัน ทั้งในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ ปริมาณฝน เพื่อวางแผนเตือนภัยและรับมือกับน้ำท่วม

***เร่งเจรจากับเมียนมาเรื่องระบบแจ้งเตือนภัยและการให้ความช่วยเหลือร่วมกัน ให้จังหวัดเชียงรายขออนุมัติงบประมาณจัดสรรเพื่อการฟื้นฟูเมืองเชียงรายเป็นกรณีพิเศษ

***ระยะกลาง ถอดบทเรียนน้ำท่วม โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนร่วมกัน แบ่งเป็นการจัดการระดับชาติ การจัดการระดับลุ่มน้ำ และระดับท้องถิ่น/ชุมชน พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยอุทกภัยให้ตรงกลุ่มผู้ประสบภัย พร้อมทั้งบอกวิธีการรับมือ เช่น ปริมาณและระดับน้ำที่จะมา การระบายน้ำ ระยะเวลาท่วมขัง  รวมถึงพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติดินโคลนถล่ม และการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้นำชุมชนและประชาชนในการรับมือกับภัยพิบัติ

***จัดตั้งหน่วยงานสำรวจจัดทำแผนที่ “ความเปราะบาง” ในการเกิดภัยพิบัติ ในระดับจังหวัดร่วมกับชุมชน และกำหนดจุดปลอดภัยในการอพยพหรือรวมพล สำรวจพื้นที่รุกล้ำลำน้ำ พื้นที่ระบายน้ำ (แก้มลิง) พื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม และกำหนดมาตรการในการป้องกัน

***ระยะยาว พิจารณางบประมาณสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีและศักยภาพของผู้ใช้งาน ด้านการช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติ เช่น โดรนส่งอาหาร อุปกรณ์บังคับระยะไกลสำหรับการเข้าช่วยเหลือในพื้นที่อันตราย

***ด้านการจัดการข้อมูลเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ พัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัย ระบบการแจ้งข้อมูลขอรับการช่วยเหลือเร่งด่วนในช่วงประสบภัยพิบัติและส่งต่อข้อมูลไปยังผู้ให้ความช่วยเหลือ และการตรวจสอบว่าการช่วยเหลือไปถึง ระบบข้อมูลอุปกรณ์ในการให้ความช่วยเหลือและการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติเครื่องมือและอุปกรณ์มาช่วยเหลือในช่วงเร่งด่วน และมีการอนุมัติการใช้งบกลางของระดับจังหวัดในการสนับสนุนค่าเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายอื่น เช่น เรือที่มีประสิทธิภาพสูงในการเข้าไปช่วยพื้นที่อันตราย

***ด้านการจัดการข้อมูลสิ่งของบริจาคให้ตรงกับผู้ต้องการและทั่วถึง สนับสนุนการวิจัยและการศึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการรับมือกับภัยพิบัติ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดการและรับมือกับภัยพิบัติไปยังทุกกลุ่ม และซักซ้อมแผนรับมือ การจัดการผังเมืองและมาตรการในการป้องกันการรุกล้ำ รวมถึงการอนุญาตให้สร้างสถานที่ราชการในบริเวณที่เปราะบาง

///ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์

Loading