18 ตุลาคม 2024

chiangraitodaynews

chiangraitodaynews

สสจ.เชียงรายร่วมตำรวจเชียงรายแถลงจับยาเสริมความงามเถื่อน เตือนประชาชนอย่าหลงเชื้อเพราะราคาถูกเป็นผลิตภัณฑ์จากเกาหลี

***เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 ตุลาคม 2567 ที่ห้องประชุมกาสะลองคำ อาคาร 1 ชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ทพ.ฉลองชัย สกลวสันต์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย พล.ต.ต.มานพ เสนากูล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย พ.ต.อ.โสภณ ม่วงเฟื่อง ผกก.สภ.เมืองเชียงราย ร่วมแถลงการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีสถานประกอบการครอบครองและจำหน่ายยาอันตราย เครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ไม่ได้รับอนุญาต และไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

***สืบเนื่องจากเมื่อในวันที่ 9 ตุลาคม 2567 เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย ได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่มีลักษณะเพื่อครอบครองและจำหน่ายยาอันตราย เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์เสริมความงามแห่งหนึ่ง บริเวณถนนเวียงบูรพา ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย โดยได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ามีสถานที่จำหน่ายยาอันตรายและผลิตภัณฑ์อื่นๆหลายชนิดโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายโดยเจ้าหน้าที่จากกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข เจ้าหน้าที่จากกลุ่มกฎหมาย ตลอดจนภายใต้การอำนวยการของผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนเมืองเชียงราย เชียงราย ได้ร่วมกันสืบหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมโดยมีการรวบรวมหลักฐานและดำเนินการสั่งซื้อยาอันตรายจากสถานที่ดังกล่าว พบว่ามีการจำหน่ายยาอันตรายที่ถูกควบคุมตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งห้ามใช้และจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีการกระทำความผิดจริง จึงนำหมายค้นออกโดยศาลจังหวัดเชียงรายเข้าตรวจค้นสถานที่ที่ถูกร้องเรียนดังกล่าว หลังการเข้าตรวจค้นพบผู้ประกอบการซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ดังกล่าวได้ครอบครองและจำหน่ายยาอันตราย เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์เสริมความงามแบบผิดกฎหมาย จำแนกเป็นในกลุ่มยาอันตราย เช่น โบท็อกซ์ (Botulinum Toxin), ยาชาลิโดเคนชนิดทา (Lidocaine), กลูต้าไธโอนชนิดฉีด (Glutathione Injection), คอลลาเจนชนิดฉีด (Collagen Injection), โซเดียมไฮยาลูโรเนตชนิดฉีด (Sodium Hyaluronate Injection) และวิตามินชนิดฉีด ในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ ได้แก่ ฟิลเลอร์, ไหมสำหรับร้อยไหม, เสต็มเซลล์ รวมถึงมีเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดมีการนำเข้ามาโดยไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาอันตรายที่ใช้ในคลินิกเสริมความงามที่ต้องมีการควบคุมการใช้โดยแพทย์เฉพาะทาง และไม่ได้อนุญาตให้มีการจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป ป็นผลิตถัณฑ์จากประเทศเกาหลี นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มยาที่ได้ขึ้นทะเบียนการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นกลุ่มยาที่สามารถจำหน่ายได้โดยต้องมีการควบคุมดูแลจากเภสัชกรหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ได้แก่ ยาชาชนิดฉีด (Lidocaine injection), ยาอะซิตีลซีสเตอีน (Acetylcysteine) และยาทรานซามิคแอซิด (Tranexamic Acid) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฎว่าผู้ประกอบการไม่ได้ประกอบวิชาชีพเภสัชกร หรือเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เปิดร้านจำหน่ายยาแผนปัจจุบัน จึงได้เข้าจับกุมพร้อมได้ตรวจยึดและอายัดของกลางจำนวน 200 รายการ หรือประมาณ 15,000 ชิ้น มูลค่ารวมทั้งสิ้น 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาท) เบื้องต้นได้แจ้งความผิดฐาน ผลิต จำหน่ายและโฆษณายาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ขายเครื่องสำอางโดยไม่มีเลขจดแจ้ง ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 และขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2553

***สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการใช้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาที่ใช้ในการรักษาและความงาม ควรเลือกใช้บริการจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องเท่านั้น การใช้ยาอันตรายโดยไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างถูกต้องหรือรับรองจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือชีวิตได้                 

***ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการจำหน่ายยาอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือสงสัยว่าสถานประกอบการหรือสถานพยาบาลในพื้นที่จังหวัดเชียงรายมีการจำหน่ายยาปลอม สามารถตรวจสอบเบื้องต้นผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น อาหารเสริม เครื่องสำอาง หรือยา ผ่านเว็บไซต์ของ อย. ที่สามารถค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้อง รวมไปถึงแอปพลิเคชันของ อย. เช่น Oryor Smart Application โดยแอปนี้ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสแกนบาร์โค้ดหรือ QR code ของผลิตภัณฑ์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและข้อมูลต่าง ๆ

***นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ขอขอบคุณ พล.ต.ต.มานพ เสนากูล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย, พ.ต.อ.สันติ กองสมัคร รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย, พ.ต.ต.อ. โสภณ ม่วงเฟื่อง ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย, พ.ต.ท.พรต เศรษฐกร รองผู้กำกับการสืบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนเมืองเชียงราย ที่ให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนการเข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ จนสำเร็จลุล่วงไปได้ดีกรณีมีสถานประกอบการครอบครองและจำหน่ายยาอันตราย เครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ที่ไม่ได้รับอนุญาต และไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย มีความผิดตามกฎหมาย มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 500,000 บาท

นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย
พล.ต.ต.มานพ เสนากูล
ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย

***พบเห็นคลินิกหรือสถานพยาบาลที่มีการสั่งยาจากบริษัทต้องสงสัย หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาปลอม สามารถแจ้งข้อมูลให้กับกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายได้โดยตรง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบ และดำเนินการตามขั้นตอนการคุ้มครองผู้บริโภคให้ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค แจ้งที่หมายเลขโทรศัพท์ 053-910-324-5

ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์

Loading