เชียงของเปิดเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา-สืบชะตาแม่น้ำโขง หลังอุทกภัยใหญ่ฟื้นพันธุ์ปลา ระบบนิเวศแม่น้ำโขง
***เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 ตุลาคม 2567 นายณัฐรัฐ พรเดชอนันต์ ประมงจงหวัดเชียงราย ในฐานะผู้แทนอธิบดีกรมประมง เป็นประธานเปิดเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา-สืบชะตาแม่น้ำโขง ที่บ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยมี นายกฤศ โพธสุธน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นายอุดม ปกป้องบวรกุล นายอำเภอเชียงของ นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต เครือข่ายสภาประชาชน กก อิง โขง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกิจกรรม “เปิดเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา-สืบชะตาแม่น้ำโขง ดำเนินงานโดยสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลริมโขง สำนักงานประมงจังหวัดเชียงราย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเชียงราย ร่วมกับชุมชนบ้านดอนที่ และภาคีเครือข่ายชาวบ้านโขงเหนือ (กก อิง โขง)
***นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เพื่อเป็นการฟื้นฟูแม่น้ำโขง หลังจากที่ได้เกิดอุทกภัยหนักในจังหวัดเชียงราย ซึ่งแม่น้ำโขงเองก็ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาจนทำให้เกิดการแปรปรวนในช่วงที่เกิดอุทกภัยที่ผ่านมา ซึ่งสายแม่น้ำที่ได้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงเหนือในจังหวัดเชียงราย ทั้งแม่น้ำกก แม่น้ำรวก แม่น้ำอิง ทำให้ประชาชนลุ่มน้ำโขงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้ ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ถือว่าเป็นการทำบุญสืบชะตาแม่น้ำโขง ถือเป็นการทำบุญใหญ่หลังจากประสบเหตุร้ายมาตามความเชื่อและกุศโลบายของชาวล้านนาทางภาคเหนือ
***การเปิดเขตเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาที่บ้านดอนที่ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ในการฟื้นฟูพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งมีแนวเขตความยาวของเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาประกอบด้วยพื้นที่เขตอนุรักษ์ 100 เมตร และเขตแนวกันชนด้านละ 100 เมตร รวม 300เมตร ซึ่งในพื้นที่โขงเหนือในจังหวัดเชียงรายมีแผนการเปิดพื้นที่อนุรักษ์ 3 แห่งคือที่บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น บ้านดอนที่ อ.เชียงของ และในอนาคตจะเปิดที่ที่บ้านเชียงแสนน้อย ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อฟื้นฟูพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงที่หายไป แต่ก็ยังคงสามารถจับปลาได้ในพื้นที่นอกเขตอนุรักษ์ เพื่อไม่ให้กระทบต่อวิถีชีวิตของชาวลุ่มแม่น้ำโขง” นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตกล่าว
***นายณัฐรัฐ พรเดชอนันต์ ประมงจงหวัดเชียงราย กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำโขง เพิ่มพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงที่จะเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ให้กับชุมชนอื่นๆให้เกิดแนวคิดการใช้ประโยชน์และดูแลรักษาที่ยั่งยืน สร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการและหน่วยงานภาครัฐ ในการ อนุรักษ์ ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ทรัพยากรลุ่มน้ำโขงที่ยั่งยืน
***การประกาศเขตอนุรักษ์ในครั้งนี้โชคดีที่เครือข่ายภาคประชาชนมีความแน่นแฟ้น โดยการนำของสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ทำให้ประชาชนในชุมชนริมแม่น้ำโขงมีส่วนร่วม จนเกิดการสร้างเขตอนุรักษ์ขึ้น เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำโขงและพันธุ์ปลา ซึ่งในวันนี้มีการปล่อยพันธุ์ปลากาดำ หรือปลาเพี้ย จำนวน 250,000 ตัวลงในแม่น้ำโขง เพื่อเป็นการเริ่มต้นฟื้นฟูพันธุ์ปลา ประมงจังหวัดเชียงรายกล่าว
***กิจกรรมที่จัดขึ้นประกอบด้วย การประกาศแนวทางความร่วมมือในการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมริมแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย คืนปลาให้แม่น้ำ ฟื้นวิถีชีวิตให้ชุมชนลุ่มน้ำโขง การลงนาม MOU บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการขยายเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาและการเพาะพันธุ์ปลาท้องถิ่นคืนสู่แม่น้ำโขง พิธีสืบชะตาแม่น้ำโขง พิธีเปิดป้ายเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาแม่น้ำโขง ประกาศพื้นที่ศึกษาปลากระเบนแม่น้ำโขงคอนผีหลง และปล่อยพันธุ์ปลาสู่แม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังมีซุ้มอาหารท้องถิ่น 4 คุ้มบ้าน เปิดศูนย์การเรียนรู้แม่น้ำโขง และการเสวนา “ปลากระเบนแม่น้ำโขงกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยโดยชุมชน ”
///ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์