18 ธันวาคม 2024

chiangraitodaynews

chiangraitodaynews

อบจ.เชียงรายเปิดบริการทางการแพทย์ Telemedicine รพ.สต. 75 แห่ง ให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลผ่านระบบดิจิดอลวินิจฉัยโรคกับแพทย์โดยตรง

***เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 16 ธันวาคม 2567 ที่ห้องประชุมธรรมรับอรุณ ชั้น 2 องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย เป็นประธานในการจัดประชุมและแถลงข่าว เปิดระบบการใช้งานเครื่องตรวจร่างกายปฐมภูมิแบบดิจิทัลสำหรับแพทย์ทางไกล (Telemedicine) โดยมีนายแพทย์คงศักดิ์ ชัยชนะ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ผู้แทน สสจ.เชียงราย ผู้แทนสปสช. และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมในการประชุมและแถลงข่าว

นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์
นายก อบจ.เชียงราย
นายแพทย์คงศักดิ์ ชัยชนะ (ซ้าย)
รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย

***นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) เกี่ยวกับการทำข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ระหว่าง อบจ.เชียงราย กับทางโรงพยาบาล และคณะกรรมการ กสพ. ซึ่งเป็นทีมงานที่จะช่วยในภารกิจการถ่ายโอน รพ.สต. และ สอน. ซึ่งจะมีการเปิดทำงานระบบรักษาพยาบาลทางไกล หรือระบบ Telemedicine ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทาง อบจ.เชียงราย จัดหามาให้ รพ.สต. จำนวน 75 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น รพ.สต.ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อลดการเดินทางของประชาชนที่อยู่ในชนบทห่างไกลหรืออยู่บนพื้นที่สูง ซึ่งเครื่องดังกล่าวสามารถใช้ตรวจวัดอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยในพื้นที่ ไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อมารับการรักษาในโรงพยาบาลในตัวเมือง โดยมีการทำแผนการักษาร่วมกันระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลในเมืองกับรพ.สต.ในท้องถิ่น ได้แก่ การตรวจผู้ป่วยเบื้องต้น รวมทั้งผู้สูงอายุที่ต้องการตรวจเบื้องต้นสำหรับโรคที่ไม่ใช่โรคร้ายแรงทางหัตถการ หรือผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษา สามารถใช้บริการจรงจรักษาได้ที่รพ.สต.ใกล้บ้าน โดยมีเครื่องที่จะเชื่อมต่อระบบมายังโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ในลักษณะการดูแลทางไกล คนไข้และหมอจะได้มีโอกาสเห็นหน้ากัน มีการสอบถามอาการเบื้องต้น มีเครื่องมือตรวจวัดอาการตั้งอยู่ที่รพ.สต. และมีการส่งยาไปให้ตามอาการของผู้ป่วยที่รพ.สต.

***นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย กล่าวอีกว่า เครื่องมือนี้สามารถนำไปตรวจผู้ป่วยในกรณีที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุที่เดินทางไกลลำบาก โดยจะมีพยาบาล และอสม.ในพื้นที่มาตรวจอาการและให้คำปรึกษาเบื้องต้นโดยแพทย์ที่ดูแลในวันนั้นๆ เครื่องนี้สามารถตรวจได้ทั้งช่องอก หู ตา และการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งบริการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบาย “โฮงยาใกล้บ้าน อยู่ที่ไหนก็ใกล้หมอ” ของอบจ.เชียงราย ที่จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ลดการเดินทางไกลและลดความแออัดของผู้มาใช้บริการโรงพยาบาลในใอง

***ในการประชุมและการแถลงข่าวมีการสาธิตการใช้งานเครื่องตรวจร่างกายปฐมภูมิแบบดิจิทัล โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้สาธิต โดยประสานไปยัง รพ.สต.ดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ที่มีผู้ป่วยเพศชาย อายุ 59 ปี ที่เข้ารับการผ่าตัดมะเร็งตับอ่อน เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2567 ที่ผ่านมา มารอรับการตรวจรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการเปิดทดลองใช้ในระยะเริ่มต้น หากการรักษาเป็นได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ อบจ.เชียงรายจะเพิ่มเครื่องตรวจทางไกล (Telemedicine) ให้ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้นในอนาคต

***การให้บริการทางการแพทย์ทางไกล หรือ “Telemedicine” คือ การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนผู้ขอรับบริการ โดยบุคลากรทางการแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพด้วยระบบบริการการแพทย์ทางไกล ผ่านทางเทคโนโลยีและการสื่อสารแบบ Video conference เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึง และทันเวลาในการให้บริการแก่ประชาชน สามารถเข้าถึงบริการในพื้นที่ที่มีอุปสรรคทางภูมิศาสตร์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปรึกษา ประวัติ ผลการตรวจห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจทางรังสีวิทยา การวินิจฉัย การรักษา การพยาบาล การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพและการฟื้นฟูสภาพร่างกาย โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ ลดระยะเวลาลดการเดินทาง รวมถึงลดความเสี่ยงจากการสัมผัส และลดความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งในภาษาไทยจะเรียกว่า “โทรเวชกรรม” หรือ “ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)” ได้รับการแนะนำและใช้ในหลายประเทศมานานหลายทศวรรษแล้ว ด้วยวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ครอบครัวส่วนใหญ่มีอุปกรณ์ดิจิทัลอย่างน้อยหนึ่งเครื่องที่สามารถเป็นวิธีการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพได้ที่บ้าน

นพ.สุรินทร์ สุมนาพันธุ์
อดีตนายแพทย์สสจ.เชียงราย

***ในช่วงการระบาดใหญ่ของ Covid-19 การใช้บริการ Telehealth ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายประเทศ Telemedicine ได้กลายเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานสำหรับประชากรทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยู่ในการกักกัน ทำให้การรักษาผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ผ่านการติดต่อกับผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพสามารถเข้าถึงคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของพวกเขา รายงานล่าสุดของ WHO ระบุว่า Telehealth พบบ่อยที่สุดที่ในต่างประเทศ ซึ่งนำมาใช้ในการให้บริการในช่วงการระบาดใหญ่ของ Covid-19 รายงานยังแสดงให้เห็นว่ามีแนวโน้มของการใช้ Telemedicine เพิ่มขึ้น ทำให้ Telemedicine เป็นวิธีการสำหรับการให้บริการด้านสุขภาพที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

///ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์

Loading