โค้งสุดท้าย “นก อทิตาธร” ขอเสียงสนับสนุนนโยบายต่อเนื่อง หมอกควัน PM2.5 น้ำท่วม การเกษตร การศึกษา เยาวชน



***เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 30 มกราคม 2568 ที่สนามกีฬากลางจังหวัดเชียงราย อ.เมืองเชียงราย นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.เชียงราย หมายเลข 1 เปิดเวทีปราศรัยครุ้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งนายกอบจ.เชียงรายและสมาชิกสภาอบจ.เชียงราย ในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.2568 โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกอบจ.เชียงราย เขต อ.เมืองเชียงราย ทั้ง 7 เขตผลัดกันขึ้นปราศรัยบนเวที มีมวลชนร่วมรับฟังกว่า 5,000 คน โดยมีนายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองสภาผู้แทนราษฎร นายสมพงษ์ กูลวงค์ อดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงราย อดีตแกนนำเสื้อแดงและมวลชนผู้สนับสนุนร่วมรับฟัง

***นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ผู้สมัครฯหมายเลข 1 กล่าวว่า ตนได้ศึกษาข้อมูลของจังหวัดเชียงรายทั้ง 18 อำเภอ 1,753 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 1.28 ล้านคนมาเป็นอย่างดีว่าแต่ละหมู่บ้านชุมชนชาวบ้านมีอาชีพและกินอยู่อย่างไร เพื่อจะได้จัดสรรงบประมาณท้องถิ่นลงไปให้ได้ถูกต้องและเกิดประโยชน์ ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้จัดสรรงบประมาณซื้อวัคซีนให้ชาวเชียงรายเป็น 2 จังหวัดแรกพร้อมกับจังหวัดปทุมธานีเพื่อให้ชาวเชียงรายได้รับผลกระทบน้อยที่สุด การแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน PM 2.5 ได้ระดมเครื่องจักรของอบจ.เชียงรายในการทำแนวกันไฟ ทำทางเพื่อการเกษตร และทำทางเพื่อซ่อมบำรุงถนนเข้าสู่ท้องถิ่นได้อย่างสะดวก สนับสนุนเยาวชนให้มีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับท้องถิ่น เป็นจิตอาสาเข้าช่วยเหลือประชาชนในช่วงน้ำท่วมใหญ่เชียงรายที่ผ่านมา รวมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนมีความรู้มีความเข้าใจกับการปกครองประชาธิปไตยโดยมีสภาเยาวชนที่จะทำงานร่วมกับสภาอบจ.ตามโครงการ “เยาวชน อบจ.”



***นางอทิตาธร กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ผู้ที่จะมาเป็นผู้บริหารอบจ.เชียงราย ต้องรู้จักท้องถิ่นของตัวเองเป็นอย่างดีว่าจะสามารถทำงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาเชียงรายได้อย่างไร ที่ผ่านมาตนลงพื้นที่ทุกหมู่บ้าน ไม่มีหมู่บ้านใดที่ตนไม่ได้ลงไป การเลือกตั้งอบจ.เป็นเรื่องของท้องถิ่นและประชาชน ซึ่งประชาชนเข้าใจระบบการบริหารจัดการได้ดี นโยบายของรัฐอาจไม่ใช่ความต้องการของคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง แต่คนท้องถิ่นย่อมเข้าใจท้องถิ่นด้วยกันเองมากกว่า ตนมีความพร้อมและมั่นใจที่จะได้กลับมาเป็นนายกอบจ.เพื่อสานงานต่อตามนโยบาย 7 เรือธง 13 นโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา เยาวชน การสาธารณสุข การแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 น้ำท่วม การตั้งศูนย์บริหารจัดการงานสาธารณภัยแบบครบวงจร ซึ่งมาจากนักวิชา ผู้รู้ วิศวกรท้องถิ่นเชียงราย และวิศวกรอาสา ประชาชนสามารถรับทราบข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้ทันที กรณีฝุ่น PM 2.5 ผู้นำเข้าพืชผลทางการเกษตรที่ส่งเสริมการปลูกในประเทศเพื่อนบ้านต้องรับผิดชอบร่วมในการแก้ปัญหาฝุ่นข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้นำเข้า ภาครัฐต้องเปิดเจรจาพูดคุยระหว่างประเทศ



***นางอทิตาธร กล่าวอีกว่า ขอให้สื่อมวลชนและผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียงที่จะทำให้ชาวเชียงอ่อนแอ การพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างของจังหวัดต้องการผู้แทนที่มีความชัดเจนโปร่งใสในเรื่องการเลือกตั้งที่ไม่ได้มาจากการซื้อสิทธิขายเสียง
***การเลือกตั้งนายกอบจ.ในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เปิดให้ลงคะแนนเสียงได้ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ที่คูหาเลือกตั้งใกล้บ้านที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยผู้สมัครนายกอบจ.มี 3 คน ได้แก่ หมายเลข 1 นางอทิตาธร วันไชยธนะวงศ์ หมายเลข 2 นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช หมายเลข 3 น.ส.จิราพร หมื่นไชยวงศ์



///ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์