เสวนาระดมความคิดเส้นทาง R3A เชื่อมท่องเที่ยวไทย-ลาว-จีน เพิ่มนทท.คุณภาพ-เปิดศูนย์เบ็ดเสร็จ-ทำให้นทท.ใช้จ่ายมากขึ้น
***เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 10 มิ.ย.2562 ที่โรงแรมเดอะเฮอร์ริเทจเชียงราย นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผวจ.เชียงราย เปิดการประชุมเผยแพร่แนวทางการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว เชื่อมโยงเส้นทาง R3A ไทย สปป.ลาว และจีน เพื่อรายงานข้อมูลและผลการศึกษาโครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเส้นทาง R3A โดยศูนย์อาเซียนศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนายจักรกฤษณ์ เอ่งฉ้วน ผช.ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย กล่าวรายงาน นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผวจ.เชียงราย บรรยายพิเศษหัวข้อ ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย การนำเสนอข้อมูลและผลการศึกษาโครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเส้นทาง R3A โดย รศ.ดร.จิตติชัย รุจนกนกนาฎ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.สุมาลี สุขตานนท์ สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.พบกานต์ อาวัชนาการ สำนักวิชาการจัดการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการเสนอแนวทางการพัฒนาและการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามเส้นทาง R3A ระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผอ.ฝ่ายวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ชฎาธาร โอษธีศ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ร่วมประชุมจำนวนมาก
***สรุปผลการศึกษาพบว่า ควรส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันของทั้ง 4 ประเทศที่ตั้งอยู่บนเส้นทาง R3AและR3B ได้แก่ ประเทศไทย สปป.ลาว เมียนมาร์ และจีน โดยส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้ทุกประเทศทุกพื้นที่ได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวร่วมกัน เช่น การส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเส้นทาง 5 เชียง การสร้างความร่วมมือในการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยการจัดงานกิจกรรมประเพณีที่ทั้ง 4 ประเพณีมีเหมือนกัน ให้ต่อเนื่องในเวลาใกล้เคียงกัน เช่น ประเพณีสงกรานต์ เป็นต้น
***ข้อเสนอแนะการสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่การท่องเที่ยวบนเส้นทาง R3A ได้แก่ การเพิ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพให้มากขึ้น ด้วยการลดขั้นตอนและเวลาในการนำเข้ารถท่องเที่ยวโดยมีศูนย์เบ็ดเสร็จ (One Stop Service) การเพิ่มจำนวนวันของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มเส้นทางการท่องเที่ยว รถท่องเที่ยวสามารถเข้าออกได้ทุกด่าน ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในทุกช่องทางที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ และการเพิ่มจำนวนเงินใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น โดย เปิดร้านค้าหรือศูนย์สินค้าพื้นเมือง (OTOP) ตามเมืองชายแดน เช่น แม่สาย เชียงแสน เชียงของ จัดทำระบบชำระเงินผ่านระบบอีเล็กโทรนิค (E – Wallet)
/// ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์