23 พฤศจิกายน 2024

chiangraitodaynews

chiangraitodaynews

“อำเภอแม่จัน” จัดประชาพิจารณ์สร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำครั้งสุดท้าย ชาวดอยเดือดร้อนเวนคืนที่ทำกินคนส่วนใหญ่ต้องการน้ำทำเกษตร

***เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 ก.ย.2562 ที่หอประชุมอำเภอแม่จัน 111 ปี ที่ว่าการอำเภอแม่จัน จ.เชียงราย  นายบุญล้อม ดีเสริมยศ ปลัดอาวุโส อ.แม่จัน จ.เชียงราย เป็นประธานการประชุมปัจฉิมนิเทศ โครงการศึกษาความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำ อ.แม่จัน โดยมีราษฎรในพื้นที่ อ.แม่จัน, อ.แม่ฟ้าหลวง และพื้นที่ข้างเคียงเข้าร่วมประชุมประชาพิจารณ์จำนวนกว่า 2,000 คน มีนายเกื้อศักดิ์ ทาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านการวางแผน) กรมชลประทาน กล่าวรายงาน  นายชาญณรงค์ สุภาพพร้อม ผู้เชี่ยวชาญด้านประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม กล่าวความเป็นมาของโครงการ นายไชยทัศน์ อิ่มสำราญรัชต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางโครงการ กรมชลประทาน นายปรัชญา ฉายวัฒนา ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 3 นายสถิร วีระเดชะ ผู้จัดการโครงการ /ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางโครงการ ร่วมแถลงความคืบหน้าโครงการ ซึ่งในระหว่างการแถลงความคืบหน้ามีชาวบ้านในส่วนที่สนับสนุนโครงการและฝ่ายที่คัดค้านโครงการต่างยกป้ายสนับสนุนและคัดค้านพร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จนนายไชยทัศน์ต้องขอร้องให้หยุดชูป้ายและให้ทุกฝ่ายฟังการรายงานเพื่อทำความเข้าใจในหลักการและเหตุผลความจำเป็นของโครงการ ติดขัดสิ่งใดขอให้เจรจากันด้วยเหตุผล ทุกอย่างจะมีทางออกที่ดีแก่ทุกฝ่าย ทำให้ชาวบ้านทั้งสองฝ่ายนำป้ายลงและนั่งฟังการแถลงอย่างสงบ

นายบุญล้อม ดีเสริมยศ
ปลัดอาวุโส อ.แม่จัน จ.เชียงราย
นายเกื้อศักดิ์ ทาทอง
ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านการวางแผน) กรมชลประทาน
นายไชยทัศน์ อิ่มสำราญรัชต์
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางโครงการ กรมชลประทาน

***คำชี้แจงจากผู้บริหารโครงการระบุว่า เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา ราษฎรของ อ.แม่จัน ได้มีหนังสือถึงหัวหน้าโครงการชลประทานเชียงราย ความว่า ราษฎรในเขต อ.แม่จัน มีความเดือดร้อนเรื่องแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน โดยในช่วงฤดูแล้งจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตรและการอุปโภคบริโภค ส่วนในฤดูฝนประสบปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกและที่อยู่อาศัย ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี จึงขอให้กรมชลประทาน ช่วยพิจารณาจัดหาแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่คำเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ราษฎร

***หลังจากนั้นกรมชลประทานได้ดำเนินการตรวจสอบสภาพภูมิประเทศร่วมกับราษฎรในพื้นที่โครงการ โดยทำการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม พบว่า ลุ่มน้ำแม่จัน (แม่คำ) เป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขงภาคเหนือ โดยมีลำน้ำหลักที่สำคัญ คือ น้ำแม่คำและน้ำแม่จัน พื้นที่ตอนบนเป็นภูเขามีความลาดชันมาก ตอนล่างเป็นพื้นที่ราบเชิงเขาและที่ราบริมฝั่งน้ำ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะปลูกและชุมชน โดยน้ำแม่คำไหลมาบรรจบกับแม่จันก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ทั้งนี้พื้นที่ในลุ่มน้ำแม่คำมีขนาดกว้างใหญ่ จึงมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งกักเก็บน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัยได้

นายสุกิจ ฉางข้าวคำ
กำนันตำบลจันจว้าใต้ อ.แม่จัน จ.เชียงราย
นางศิลปศร เชอหมื่อ อายุ 40 ปี
ชาวบ้านบ้านแสนใจพัฒนา ม.22 ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

***การพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำแม่คำที่ผ่านมา มีการก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดเล็กกระจายอยู่โดยทั่วไป แต่ยังคงมีปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำโดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาดังกล่าว กรมชลประทานโดยสำนักบริหารโครงการ ได้พิจารณาดำเนินการศึกษา “รายงานการศึกษาแนวทางพัฒนาลุ่มน้ำ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำแม่จัน (แม่คำ)” ซึ่งโครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำเป็นหนึ่งในโครงการที่มีศักยภาพในลุ่มน้ำแม่จัน (แม่คำ) ที่จะพัฒนาเป็นโครงการขนาดใหญ่ได้ แต่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจส่งผลกระทลต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สำนักบริหารโครงการ จึงว่าจ้างที่ปรึกษาให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อมของอ่างเก็บน้ำแม่คำ เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบรายละเอียดและก่อสร้าง

***ตลอดระยะเวลาของการดำเนินการศึกษา กรมชลประทานได้ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียต่อโครงการ ได้แสดงความคิดเห็น ข้อห่วงกังวล ข้อโต้แย้ง หรือข้อเสนอแนะที่มีต่อโครงการ โดยพบว่าราษฎรในพื้นที่ศึกษาทั้งในเขต อ.แม่จัน และเขต อ.แม่ฟ้าหลวง ได้แสดงความคิดเห็น ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อการพัฒนาโครงการ โดยเฉพาะในประเด็นการพัฒนาโครงการให้เป็นขนาดใหญ่ ท้ายสุดกรมชลประทานและคณะที่ปรึกษา ได้พิจารณาถึงข้อห่วงกังวลดังกล่าว จึงดำเนินการปรับแก้แผนการศึกษาพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ให้เป็นโครงการขนาดกลาง โดยผลการศึกษากำหนดให้ดำเนินการก่อสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 2 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำแม่คำ และอ่างเก็บน้ำแม่แสลบ

***เมื่อมีการพัฒนาอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 โครงการแล้ว จะมีพื้นที่รับประโยชน์รวม 103,000 ไร่ ประกอบด้วย 10 ตำบล ใน 3 อำเภอ ได้แก่ ต.แม่คำ ต.แม่ไร่ ต.ศรีค้ำ ต.จอมสวรรค์ ต.จันจว้าใต้ และต.จันจว้า อ.แม่จัน , ต.ห้วยไคร้ ต.บ้านด้าย ต.โป่งงาม อ.แม่สาย และต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน  โดยใช้ระบบส่งน้ำชลประทานเดิมที่มีอยู่แล้ว เป็นตัวกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่ ซึ่งจะมีปริมาณน้ำใช้เพื่อการเกษตรในฤดูฝนเป็นพื้นที่กว่า 87,500 ไร่ และในฤดูแล้งกว่า 63,800 ไร่ และยังมีน้ำสำรองใช้อุปโภคบริโภคในพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการปีละ 2.78 ล้านลบ.ม. และสามารถลดสภาวะพื้นที่น้ำท่วมได้กว่า 5,663 ไร่ โดยมีการชดเชยราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการโครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำจำนวน 200 ราย เป็นงบประมาณรวม 152.26 ล้านบาท มูลค่าก่อสร้างโครงการ 2,060.56 ล้านบาท และโครงการอ่างเก็บน้ำแม่แสลบจำนวน 92 ราย เป็นงบประมาณรวม 73.32 ล้านบาท มูลค่าก่อสร้างโครงการ 1,712.19 ล้านบาท

***นางศิลปศร เชอหมื่อ อายุ 40 ปี ชาวบ้านบ้านแสนใจพัฒนา ม.22 ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่แสลบ กล่าวว่า มีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการประมาณกว่า 90 ครัวเรือน ที่ส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร ปลูกกาแฟ ลูกพลับ ผลไม้เมืองหนาว และทำนา ซึ่งต่างอยู่อาศัยในพื้นที่มายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ แม้ว่าจะไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน แต่ก็อยู่อาศัยกับธรรมชาติดูแลต้นน้ำและธรรมชาติป่าไม้มาโดยตลอดอย่างดี ซึ่งถ้าต้องย้ายที่อาศัยที่ทำกินก็ไม่อยากย้ายออกไป เกรงจะต้องไปอยู่ไกลจากที่เดิม ได้พื้นที่ทำกินไม่เท่าที่เดิม และความเหมาะสมพึงพอใจอาจไม่เท่ากับที่เดิมที่เคยอยู่ จึงไม่เห็นด้วยกับโครงการสร้างเขื่อนดังกล่าว

***ด้านนายสุกิจ ฉางข้าวคำ กำนันตำบลจันจว้าใต้ อ.แม่จัน จ.เชียงราย นำชาวบ้านจาก 5 ตำบล ใน 3 อำเภอ มาให้การสนับสนุนการก่อสร้างอ่างเก็บแม่คำ กล่าวว่า ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่จัน อ.แม่สาย และอ.เชียงแสน ต่างมีความเดือดร้อนเรื่องภาวะฝนแล้งในหน้าแล้งและภาวะน้ำท่วมในหน้าฝน ต้องการให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสร้างเขื่อนเก็บน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบได้แก่กรมชลประทานและบริษัทคอลซัลท์ที่มาดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้รับว่าจะดูแลและรับผิดชอบต่อผู้ได้รับผลกระทบทุกอย่างเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการจัดหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้เหมาะสมและเท่าเทียมกับที่อยู่เดิม ขอให้ผู้ได้รับผลกระทบได้เจรจากันด้วยเหตุและผลที่ดีต่อกัน

/// ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *