17 กันยายน 2024

chiangraitodaynews

chiangraitodaynews

เลขาสภาชนเผ่าร่วมเทศกาลวันเพาะปลูกชาวลีซูกลางสายฝน ตอกย้ำรัฐยังไม่ให้ความสำคัญความมั่นคงทางอาหารที่เหลื่อมล้ำ

1 min read

***เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 14 มิ.ย.2564 ที่สวนการเรียนรู้ความมั่นคงทางอาหารชนเผ่าลีซู บ้านปางสา ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย นายศักดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เปิดกิจกรรมประเพณีวันแห่งการเพาะปลูกชนเผ่าลีซู “หงั่ว ฮา เต๋อ หวู่” โดยมีนายสุพจน์ หลี่จา นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธ์ (สสช.) ให้การต้อนรับ และดำเนินการจัดการเสวนาออนไลน์ผ่านระบบ Zoom กับเครือข่ายชาติพันธ์ต่างๆทั่วประเทศ ในหัวข้อ “ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร” และ  “ศักยภาพพันธุกรรมพื้นบ้าน และทิศทางการพัฒนาในอนาคต” กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การอบรมยุวเกษตรชาติพันธุ์ลีซู การให้ความรู้เรื่องความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน พิธีสวดขอพรวันปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร พิธีผสมเมล็ดพันธ์พืช พิธีหยอดเมล็ดพันธ์ลงแปลงเกษตร การสาธิตการทำปุ๋ยน้ำ (EM) จากวัตถุดิบธรรมชาติ และการแจกเมล็ดพันธุ์เกษตรหลากหลายให้แก่ผู้มาร่วม ซึ่งตลอดทั้งวันมีฝนตกตลอดเวลาตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา แต่ชาวชนเผ่าที่มาร่วมพิธีก็ได้อยู่ร่วมงานจนจบพิธี และปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 อย่างเข้มงวด
***นายศักดา กล่าวว่า การดำรงอยู่ของเมล็ดพันธ์พื้นบ้าน มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของชนเผ่าชาติพันธุ์ โดยเฉพาะการดำรงอยู่ของเมล็ดพันธ์พืชพื้นเมืองที่มีอยู่มาก ส่งผลให้ความมั่นคงทางอาหารเป็นจริงขึ้นมาได้ สามารถดำรงวิถีของตัวเองได้ เมล็ดพันธุยังนำไปสู่เรื่องการจัดทำพิธีกรรมที่มีการใช้ที่ดินอย่างมีความนอบน้อมต่อเจ้าของที่และธรรมชาติ เป็นการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน มีการจัดการพื้นที่ทำกินและจัดการพื้นที่ป่ารอบๆด้วย  

***การปลูกพืชพื้นบ้านของชาวชนเผ่าเป็นพื้นฐานของการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ปัญหาสำคัญของคนชนเผ่าคือเรื่องที่ดินทำกินที่ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก รัฐสนับสนุนการผลิตแบบระบบทุนนิยมเพื่อขาย ในขณะที่ชาวบ้านปลูกเพื่อการบริโภคและแบ่งปัน เช่นนี้วิถีชุมชนจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร ในความเป็นจริง เมื่อแหล่งอาหารในเมืองลดลง แต่ชาวชาติพันธ์ยังคงผลิตผลิตผลการเกษตรอยู่เพื่อแบ่งปันให้คนในเมืองได้ การอนุรักษ์รักษาวิถีชุมชนพื้นถิ่นจึงเป็นการเสริมสร้างให้เกิดความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริง นาศักดากล่าวและเพิ่มเติมว่า

***ในขณะนี้มีการรณรงค์ด้านความมั่นทางอาหารไปถึงระดับเอเชียและระดับโลกแล้ว ซึ่งเน้นเรื่องเมล็ดพันธ์พื้นบ้าน การจัดการที่ดิน และทรัพยากรตามจารีตประเพณีของตัวเอง ทางสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยและสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธ์ได้นำภาคเครือข่ายมาช่วยกันออกแบบทรัพยากรความมั่นคงทางอาหารให้เกิดมากขึ้นและมีเครือข่ายในการเรียนรู้ร่วมกัน การออกแบบยุทธศาสตร์ในการใช้ที่ดินและจัดการทรัพยากร ในช่วงวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ขอเป็นลังใจให้แก่พี่น้องชนเผ่าชาติพันธุ์ต่างๆทุกคน เพราะชาวชาติพันธุ์คือผู้สร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้น ซึ่งสังคมจะไม่ขาดแคลนอาหารในยามวิกฤตินี้

นายศักดา แสนมี่
เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
นายสุพจน์ หลี่จา
นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธ์ (สสช.)

***ด้านนายสุพจน์ กล่าวว่า วัน “หงั่ว ฮา เต๋อ หวู่” เป็นภาษาลีซู หมายถึงวันปลูกพืชพันธ์ธัญญาหาร เป็นวันเริ่มต้นวิถีการเกษตร วิถีการสร้างความมั่นคงทางอาหารของชนเผ่าลีซู สมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธ์ (สสช.) ได้ใช้มิติ ภูมิปัญญา ความรู้ เป็นตัวเชื่อมการสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยใช้กิจกรรมประเพณีพิธีวันปลูกเป็นเครื่องสื่อสารกับพี่น้องชาติพันธ์ต่างๆในประเทศไทย การจัดงานวันปลูกปีนี้โชคดีมากที่มีฝนตกลงมาพอดีเป็นนิมิตหมายแห่งการเพาะปลูกที่ดี ปัจจัยในการขับเคลื่อนให้เกิดความมั่นคงทางอาหารมีหลายปัจจัย เช่น สิทธิการเข้าถึงที่ดินทำกิน การใช้ประโยชน์ในผืนป่าร่วมกัน อยากให้รัฐบาลได้ให้สิทธิในการถือครองที่ดินทำกินเท่าเทียมกันคนไทยอื่นๆทั่วไปได้แก่เรื่องที่ดิน สัญชาติ สุขภาพ เป็นต้น สสช.ได้เสนอร่างพรบ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองเสนอให้ครม.พิจารณาแล้ว

***นายสุพจน์กล่าวต่อว่า ในระดับสากลได้มีการสร้างปฏิญญาให้พี่น้องชนเผ่าทุกเผ่าในโลกนี้ สามารถใช้ภูมิปัญญาของตนเองได้ อยู่ร่วมกับคนในประเทศได้อย่างมั่นคงยั่งยืนเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในช่วงภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ขอให้พี่น้องชาติพันธุ์ใช้ภูมิปัญญาของตนเองในการจัดการความรู้ โดนเฉพาะเรื่องการเกษตร ซึ่งการเกษตรจะสามารถดำรงอยู่ได้แม้ว่าจะเกิดภัยพิบัติใดๆก็ตามขึ้น ซึ่งเป็นวิถีชีวิตตามศาสตร์พระราชหรือเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ขอเป็นกำลังให้ทุกคนอยู่ได้และผ่านวิกฤติไปด้วยดี

/// ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์

Loading