สสจ.เชียงรายร่วมเครือข่ายรณรงค์ขับเคลื่อนยุติปัญหาเอดส์ เชียงรายจังหวัดนำร่องผู้ป่วยเข้าถึงยาตานเอชไอวีสูงถึง 92 %
***เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 พ.ย.2564 ที่ห้องบอลรูม โรงแรมเฮอร์ริเทจ เชียงราย นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดโครงการเครือข่ายการขับเคลื่อนยุติปัญหาเอดส์ระดับจังหวัด (Empowering & Collaborating for Ending AIDS) เพื่อเป็นเวทีในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้านเอดส์ของจังหวัดเชียงราย โดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินการไปสู่การเป็นจังหวัดต้นแบบยุติเอดส์ โดยมีนายบัญชา เชาวรินทร์ รองผวจ.เชียงราย กล่าวต้อนรับและร่วมเปิดงาน นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์ สสจ.เชียงราย กล่าวรายงาน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายเพื่อยุติปัญหาเอดส์ร่วมการเปิดโครงการจำนวน 100 คน ภายใต้มาตรฐานการป้องกันโควิด 19 อย่างเคร่งครัด โดยมีการไลฟ์สดผ่านเพจ Facebook กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรคด้วย
***นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์ สสจ.เชียงราย กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จังหวัดเชียงรายมีผู้ติดเชื้อเอช.ไอ.วี.ที่รับรู้สถานะการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 87 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 98 ในปี 2563 จำนวนผู้ติดเชื้อเอช.ไอ.วี.ที่ทราบสถานะสามารถเข้าถึงการรับยาต้านไวรัสเอช.ไอ.วี.เพิ่มขึ้นร้อยละ 91 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 92 ในปี 2563 แสดงให้เห็นว่าจังหวัดเชียงรายมีการพัฒนาด้านการดูแลรักษาจนสามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายที่ร่วมเปิดโครงการ ได้แก่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, สสจ.เชียงราย, ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข (TUC), สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน), โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์และโรงพยาบาลภาครัฐในจังหวัดเชียงราย,มูลนิธิ M Plus เชียงราย และเครือข่ายจิตอาสาด้านโรคเอดส์ในจังหวัดเชียงราย
***นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอช.ไอ.วี.จำนวน 493,000 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,800 คน และมีผู้เสียชีวิต 11,200 คน การติดเชื้อรายใหม่ร้อยละ 97 เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ร้อยละ 3 เกิดจากการฉีดยาเสพติดที่ไม่ปลอดภัย การสำรวจทัศนคติต่อผู้ที่ติดเชื้อเอช.ไอ.วี. ปี 2562 พบว่า คนไทยยังมีทัศนคติเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อสูง ร้อยละ 26.7 และยังคงมีการตีตราและเลือกปฏิบัติกับครอบครัวของผู้ติดเชื้ออยู่ ทั้งในที่ทำงานและสถานศึกษา ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ต้องบรรลุตามนโยบายในปี 2573 อยู่มาก กรมควบคุมโรคจึงเร่งดำเนินการขับเคลื่อนเครือข่ายการทำงานเพื่อยุติโรคเอดส์ในระดับจังหวัดให้เป็นจังหวัดต้นแบบ โดยประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน พัฒนาสถานพยาบาลในรูปแบบเครือข่ายระดับจังหวัด ยกระดับคุณภาพของการบริหารและการพัฒนาระบบส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ครอบคลุมทุกสิทธิประโยชน์ สร้างความรอบรู้เรื่องโรคเอดส์ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม โดยกรมควบคุมดำเนินการสนับสนุนบริการเชิงรุกด้านการป้องกัน ส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ขยายการจัดบริการยาเพร็พ เพื่อป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ ฟรี ในประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ส่งเสริมการตรวจหาการติดเชื้อเอช.ไอ.วี.ด้วยความสมัครใจฟรี ปีละ 2 ครั้ง และส่งเสริมการใช้ชุดตรวจหาเชื้อด้วยตัวเอง
/// ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์